วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ ๑


แผนการจัดการเรียนรู้ที่ ๑

กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย                                                                               ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑

หน่วย นิราศภูเขาทอง

เรื่อง พินิจชนิดและหน้าที่ของคำในบริบท : คำนาม                                              เวลา    ชั่วโมง

...................................................................................................................................................

มาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด

             มาตรฐาน ท ๔.๑ เข้าใจธรรมชาติของภาษาและหลักภาษาไทย การเปลี่ยนแปลงของภาษาและพลังของภาษา ภูมิปัญญาทางภาษา และรักษาภาษาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติ

             ตัวชี้วัด ท ๔.๑ ม. ๑/๓ วิเคราะห์ชนิดและหน้าที่ของคำในประโยค

สาระสำคัญ

      คำที่มีความหมายถึงบุคคล สัตว์ พืช วัตถุ ทั้งที่สามารถมองเห็นและมองไม่เห็นเป็นคำนาม             

จุดประสงค์การเรียนรู้

        ๑. อธิบายลักษณะของคำนามในภาษาไทย

        ๒.  วิเคราะห์ชนิดและหน้าที่ของคำนามในประโยค

        ๓. เห็นความสำคัญของคำนามที่ใช้ในภาษาไทย

สาระการเรียนรู้

         ๑. คำนาม

กิจกรรมการเรียนรู้

         ๑.ให้นักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็นว่า “ชื่อมีความสำคัญอย่างไร”

         ๒. ให้นักเรียนอ่านบัตรคำที่ครูติดบนกระดาน

 
               ๓. ให้นักเรียนสังเกตและช่วยกันอธิบายว่าคำเหล่านี้มีลักษณะที่ร่วมกันอย่างไร

               ๔. ให้นักเรียนศึกษาความรู้เรื่อง คำนาม แล้วร่วมกันสนทนาในประเด็นต่อไปนี้

                        -      คำนามคืออะไร

                        -      คำนามมีกี่ประเภท อะไรบ้าง

                        -      สามัญนามกับวิสามัญนามต่างกันอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

                        -      สมุหนามกับลักษณนามต่างกันอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

                        -      อาการนามมีลักษณะอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

               ๕. ครูอธิบายความรู้เพิ่มเติมและให้นักเรียนสรุปประเภทของคำนามเป็นแผนภาพความคิด

               ๖. ให้นักเรียนแบ่งกลุ่ม ๕ กลุ่ม ส่งตัวแทนออกมาจับฉลากที่มีประเภทของคำนาม แต่ละกลุ่มออกมาเข้าแถวตอนหน้าชั้นเรียน ให้ห่างจากกระดานพอประมาณ

               ๗. ให้นักเรียนแข่งขันเขียนคำนามตามประเภทที่กลุ่มจับฉลากได้ โดยสมาชิกในกลุ่มผลัดกันออกไปเขียนบนกระดานคนละ ๑ คำ เมื่อเขียนเสร็จแล้วให้ไปต่อท้ายแถว ครูกำหนดเวลาในการทำกิจกรรมนี้ตามความเหมาะสม

               ๘. เมื่อหมดเวลานักเรียนทุกคนกลับมานั่งที่ให้เรียบร้อย แล้วช่วยกันตรวจสอบคำบนกระดานว่าถูกต้องหรือไม่ คำที่ซ้ำกันให้ตัดออก กลุ่มใดได้คำที่ถูกต้องมากที่สุดเป็นฝ่ายชนะ

               ๙. ให้นักเรียนเล่นเกม วิเคราะห์ไว ไขคำนาม โดยแต่ละกลุ่มอ่านประโยคที่ครูติดบนกระดาน แล้วช่วยกันวิเคราะห์ว่าประโยคนั้นมีคำนามชนิดใดบ้าง และคำนามแต่ละคำทำหน้าที่ใดในประโยค กลุ่มใดยกมือก่อนจะได้สิทธิ์ตอบ ถ้าตอบถูกจะได้ตำแหน่งละ ๑ คะแนน เช่น ตอบว่าคำนามคือ นก เป็นสามัญนาม        ทำหน้าที่ประธานของประโยค ก็จะได้ ๒ คะแนน เป็นต้น แต่ถ้าตอบผิดหรือตอบไม่ครบ กลุ่มอื่นสามารถยกมือตอบได้

                        ประโยคที่ใช้ในการทำกิจกรรม เช่น

                        ๑)     จอมขวัญปลูกกล้วยไม้สีชมพู

                                        จอมขวัญ       เป็นวิสามัญนาม          ทำหน้าที่ประธาน

                                        กล้วยไม้         เป็นสามัญนาม            ทำหน้าที่กรรม

                        ๒)    ทายาทเศรษฐีได้รับมรดกร้อยล้านบาท

                                        ทายาทเศรษฐี       เป็นสามัญนาม       ทำหน้าที่ประธาน

                                        มรดก                     เป็นสามัญนาม       ทำหน้าที่กรรม

                                        บาท                        เป็นลักษณนาม       ทำหน้าที่ขยายกรรม

                        ๓)    ความรักทำให้คนตาบอด

                                        ความรัก         เป็นอาการนาม               ทำหน้าที่ประธาน

                                        คน                  เป็นสามัญนาม               ทำหน้าที่กรรม

                                        ตาบอด           เป็นสามัญนาม               ทำหน้าที่ขยายกรรม

                        ๔)    ฝูงปลาใต้ทะเลแหวกว่ายอย่างเริงร่า

                                        ฝูงปลา           เป็นสมุหนาม                 ทำหน้าที่ประธาน

                                        ทะเล              เป็นสามัญนาม               ทำหน้าที่ขยายประธาน

                        ๕)    ทุเรียนหมอนทองมีรสชาติหวานมันกลมกล่อม

                                        ทุเรียนหมอนทอง         เป็นสามัญนาม         ทำหน้าที่ประธาน

                                        รสชาติ                            เป็นสามัญนาม         ทำหน้าที่กรรม

                        เมื่อเสร็จสิ้นการแข่งขันกลุ่มที่ได้คะแนนมากที่สุดเป็นฝ่ายชนะ

             ๑๐. นักเรียนและครูร่วมกันสรุปความรู้เรื่องคำนาม คือ คำที่มีความหมายถึงบุคคล สัตว์ พืช วัตถุ ทั้งที่สามารถมองเห็นและมองไม่เห็นเป็นคำนาม

สื่อการเรียนรู้/แหล่งการเรียนรู้

         ๑. แถบประโยค

         ๒. บัตรคำ

การวัดและประเมินผล

   วัดและประเมินผล

          ๑. ตรวจผลงานนักเรียน

          ๒. สังเกตจากการปฏิบัติงานกลุ่ม

   เครื่องมือวัดและประเมินผล

          ๑. ผลงานนักเรียน

          ๒. แบบสังเกตการปฏิบัติงานกลุ่ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น